ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Kirsten Holmberg

เต้นเป็นจังหวะเดียวกัน

เรื่องราวต่างๆเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจมนุษย์มาตั้งแต่การทรงสร้างได้เริ่มต้นขึ้น เป็นวิธีถ่ายทอดความรู้ก่อนที่ภาษาเขียนจะเกิดขึ้น เราทุกคนต่างรู้ดีถึงความเพลิดเพลินของการฟังหรือการอ่านเรื่องราว และรู้สึกมีส่วนร่วมในทันทีกับประโยคเริ่มเรื่อง เช่น “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว” พลังของเรื่องราวไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่การให้ความเพลิดเพลิน เมื่อเราฟังเรื่องราวไปพร้อมๆกัน หัวใจของเราดูเหมือนจะเต้นสอดประสานเข้าด้วยกัน! แม้หัวใจของเราจะเต้นแตกต่างกันออกไปในแต่ละวันและอาจตรงกับของผู้อื่นเข้าโดยบังเอิญ แต่งานวิจัยใหม่ระบุว่า หัวใจของเราทุกคนอาจเต้นเป็นจังหวะเดียวกันเมื่อเราได้ยินเรื่องราวเดียวกันในเวลาเดียวกัน

พระเจ้าทรงเริ่มเล่าเรื่องราวของพระองค์ให้เราฟังด้วยคำว่า “ในปฐมกาล” (ปฐก.1:1) เมื่ออาดัมและเอวาเริ่มหายใจเป็นครั้งแรก (ข้อ 27) พระเจ้าไม่เพียงแต่ใช้เรื่องราวที่พระองค์ทรงสำแดงเพื่อหล่อหลอมชีวิตของเราเป็นรายคน แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ ชีวิตของเราทุกคนรวมกันในฐานะบุตรของพระองค์ หัวใจของเราในฐานะผู้เชื่อในพระเยซู ผู้ซึ่งถูกแยกออกมาเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระองค์ (1 ปต.2:9) จะถูกหลอมรวมกันผ่านพระคัมภีร์ซึ่งเป็นเรื่องราวจริงที่ไม่ใช่นวนิยาย และมีความงดงามที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้

ขอให้หัวใจของเราตอบสนองด้วยการเต้นเป็นจังหวะเดียวกันขณะที่เราร่วมยินดีในผลงานที่สร้างสรรค์ของผู้ประพันธ์ และขอให้เราแบ่งปันเรื่องราวของพระองค์กับผู้อื่น โดยประกาศถึง “พระสิริของพระองค์ท่ามกลางบรรดาประชา-ชาติ ถึงการอัศจรรย์ของพระองค์ท่ามกลางบรรดาชนชาติทั้งหลาย” (สดด.96:3) และเชื้อเชิญให้พวกเขาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวนี้

คุณยายวาฬ

วาฬเพชฌฆาตที่นักวิจัยตั้งชื่อเรียกว่า “แกรนนี่ (คุณยาย)” นั้น ดูเหมือนจะรู้ดีถึงบทบาทสำคัญที่มันมีในชีวิตของ “หลานวาฬ” แม่ของวาฬหนุ่มน้อยเพิ่งตายจากไป และเจ้าวาฬกำพร้ายังไม่โตพอที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยปราศจากการคุ้มครองและการสนับสนุน คุณยายวาฬแม้จะอายุ 80 กว่า (หรือมากกว่านั้น) ยังคงอยู่เคียงข้างหลานเพื่อสอนในสิ่งที่จำเป็นต่อการเอาตัวรอด คุณยายวาฬจับปลาให้เจ้าวาฬตัวน้อยแทนที่จะกินเอง ดังนั้นมันจึงไม่เพียงแต่ได้กินอาหาร แต่ยังได้เรียนรู้อีกว่าจะกินอะไรและจะหาปลาแซลมอนได้ที่ไหนเพื่อจะมีชีวิตรอด

เราเองก็ได้รับเกียรติและความชื่นชมยินดีที่ได้ส่งต่อความรู้ที่เรามี นั่นคือเราสามารถบอกเล่าถึงพระลักษณะและพระราชกิจอันอัศจรรย์ของพระเจ้ากับผู้ที่มาภายหลัง ผู้เขียนสดุดีที่เข้าสู่วัยชราแล้วทูลขอพระเจ้าให้ท่านสามารถ “ประกาศถึงอานุภาพของพระองค์แก่ชาติพันธุ์ถัดไป” (สดด.71:18) ท่านมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะแบ่งปันสิ่งที่ตนรู้เกี่ยวกับพระเจ้าแก่ผู้อื่น คือ “กิจการอันชอบธรรมของพระองค์” และ “ราชกิจที่ช่วยให้รอดของพระองค์” ที่เราจำเป็นต้องโอ้อวด (ข้อ 15)

แม้เราจะยังไม่มีผมหงอกในวัยชรา (ข้อ 18) การประกาศถึงประสบการณ์ที่เรามีในความรักและความสัตย์ซื่อของพระเจ้าอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับบางคนที่กำลังเดินกับพระเจ้า ความยินดีที่จะแบ่งปันสติปัญญาของเราอาจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนคนนั้น ในการดำเนินชีวิตและการเติบโตในพระคริสต์แม้ในยามยากลำบาก (ข้อ 20)

ทั้งสองล้วนเป็นจริง

เฟิงลู่ลู่ได้พบกับครอบครัวที่ให้กำเนิดหลังผ่านไปสามทศวรรษ ตอนยังเล็กเธอถูกลักพาตัวไปขณะเล่นอยู่นอกบ้าน แต่ด้วยความช่วยเหลือจากสหพันธ์สตรีแห่งประเทศจีนเธอจึงถูกพบตัวในที่สุด ตอนที่ถูกลักพาตัวเฟิงลู่ลู่ยังเด็กมากจึงจำอะไรไม่ได้ เธอเติบโตขึ้นมาโดยเชื่อว่าตนเองถูกขายเพราะพ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูเธอได้ การได้รู้ความจริงทำให้เกิดคำถามและความรู้สึกที่หลากหลาย

เมื่อโยเซฟได้พบพวกพี่ชายอีกครั้ง ดูเหมือนว่าท่านจะมีอารมณ์ที่หลากหลาย ท่านถูกพวกพี่ชายขายไปเป็นทาสที่อียิปต์ตั้งแต่ยังหนุ่ม แม้จะเจอเรื่องราวพลิกผันอันเจ็บปวดหลายต่อหลายครั้ง แต่พระเจ้าทรงนำโยเซฟไปสู่ตำแหน่งที่มีอำนาจ เมื่อพวกพี่ชายมาซื้ออาหารที่อียิปต์เนื่องจากการกันดารอาหาร พวกเขาไม่รู้เลยว่าจะต้องมาซื้อกับโยเซฟ

โยเซฟตระหนักว่าพระเจ้าทรงไถ่ความผิดของพวกเขาแล้ว โดยบอกว่าพระองค์ทรงใช้มันเพื่อ “ช่วยชีวิตของ [พวกเขา] ไว้ด้วยการช่วยกู้อันใหญ่หลวง” (ปฐก.45:7) กระนั้นโยเซฟก็ไม่ได้แก้ต่างให้กับการกระทำอันร้ายกาจที่พวกพี่ทำกับท่าน ท่านใช้คำที่ชัดเจนว่า “ขาย [เขา]” (ข้อ 5)

บางครั้งเราพยายามมองสถานการณ์ยากลำบากในแง่บวกมากเกินไป โดยจดจ่อไปที่สิ่งดีซึ่งพระเจ้าทรงให้เกิดขึ้นและลืมนึกถึงอารมณ์ความรู้สึกที่มี ให้เราใส่ใจไม่เพียงการมองเรื่องร้ายว่าเป็นสิ่งดีเพราะพระเจ้าทรงไถ่มันแล้ว แต่ให้เราคาดหวังว่าพระองค์จะทำให้เกิดสิ่งดีขึ้นได้ในขณะที่ยังคงจดจำความเจ็บปวดที่เกิดจากการทำผิดนั้นด้วย เพราะทั้งสองล้วนเป็นความจริง

การควบคุมตนเองด้วยกำลังของพระเจ้า

การทดลองปี ค.ศ. 1972 เป็นที่รู้จักในชื่อ “การทดลองมาร์ชเมลโล” ได้ถูกพัฒนาเพื่อวัดความสามารถของเด็กในการยับยั้งใจต่อความปรารถนาของพวกเขา เด็กๆได้รับขนมมาร์ชเมลโลคนละหนึ่งอัน โดยมีข้อแม้ว่าถ้าพวกเขาอดใจไม่กินมันภายในสิบนาที พวกเขาจะได้ขนมชิ้นที่สอง ประมาณหนึ่งในสามของเด็กทั้งหมดสามารถอดใจรอรางวัลที่ใหญ่กว่าได้ อีกหนึ่งในสามที่เหลือกินขนมหมดภายใน 30 วินาที!

เราอาจต้องต่อสู้กับการควบคุมตนเองเมื่อได้รับข้อเสนอที่เราปรารถนา แม้รู้ว่าเราจะได้ประโยชน์มากกว่าในอนาคตถ้าเรารอ กระนั้นเปโตรก็ยังกระตุ้นให้เรา “เพิ่มเติมความเชื่อ” ด้วยคุณธรรมหลายประการ รวมถึงการควบคุมตนเองด้วย (2 ปต.1:5-6) ด้วยความเชื่อที่มีในพระเยซู เปโตรหนุนใจให้ผู้อ่านและพวกเราเติบโตขึ้นด้วยคุณธรรม ความรู้ ความเหนี่ยวรั้งตน ขันตี ธรรม ความรักฉันพี่น้อง และความรักคนทั่วไปอย่าง “เพียบพร้อม” เพื่อเป็นสิ่งยืนยันความเชื่อ

แม้คุณธรรมเหล่านี้จะไม่ได้ทำให้เราได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า หรือเป็นหลักประกันที่อยู่ของเราบนสวรรค์ แต่เป็นสิ่งยืนยันทั้งต่อตัวเราเองและคนที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วยถึงความจำเป็นที่เราต้องฝึกการควบคุมตนเอง ในขณะที่พระเจ้าทรงประทานสติปัญญาและกำลังเพื่อให้เราทำได้ และที่ดีที่สุดคือ “ฤทธิ์เดชของพระองค์ได้ให้สิ่งสารพัดแก่เรา ที่จะให้มีชีวิตและมีธรรม” ซึ่งเป็นชีวิตอันเป็นที่พอพระทัยพระองค์ โดยฤทธิ์อำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ข้อ 3)

เลือกอย่างฉลาด

นักบินอวกาศคริส เฟอร์กูสัน ได้ตัดสินใจอย่างยากลำบากในฐานะผู้บัญชาการของลูกเรือที่มีกำหนดการเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ การตัดสินใจนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องกลไลการบินหรือความปลอดภัยของเพื่อนนักบินอวกาศคนอื่น แต่เกี่ยวกับสิ่งที่เขาถือว่าเป็นงานสำคัญที่สุดของเขา นั่นคือครอบครัว เฟอร์กูสันเลือกที่จะอยู่บนโลกเพื่อร่วมพิธีแต่งงานของลูกสาว

ในบางครั้งเราทุกคนต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก ที่ทำให้เราต้องชั่งใจว่าสิ่งใดสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตเรา เพราะตัวเลือกหนึ่งต้องแลกมาด้วยการจ่ายราคาสำหรับอีกตัวเลือกหนึ่ง พระเยซูทรงมีเป้าหมายที่จะสื่อสารความจริงนี้กับสาวกของพระองค์และฝูงชนที่เฝ้าดูเหตุการณ์ เกี่ยวกับการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดในชีวิต คือการติดตามพระองค์ พระองค์ตรัสว่าในการเป็นสาวก พวกเขาจะต้อง “ปฏิเสธตนเอง” เพื่อที่จะเดินกับพระองค์ (มก.8:34) พวกเขาอาจถูกล่อลวงให้ไม่อยากเสียสละตนเองในการติดตามพระคริสต์ และแสวงหาความปรารถนาของตนเองแทน แต่พระเยซูทรงเตือนพวกเขาว่าสิ่งที่เขาอยากเลือกนั้นจะต้องแลกด้วยสิ่งที่มีคุณค่ามากยิ่งกว่า

เรามักถูกล่อลวงให้ไขว่คว้าสิ่งที่ดูเหมือนจะมีค่าสูง แต่สิ่งเหล่านี้เองที่ดึงความสนใจเราจากการติดตามพระเยซู ให้เราทูลขอพระเจ้านำทางเราในการตัดสินใจเลือกที่เราต้องเผชิญในแต่ละวัน เพื่อที่เราจะเลือกอย่างฉลาดและถวายเกียรติแด่พระองค์

เมื่อเรารวมตัวกัน

จากดัชนีรายงานความสุขโลกนั้น เดนมาร์กอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ชาวเดนมาร์กฝ่าฟันฤดูหนาวอันมืดมิดและยาวนานด้วยการรวมตัวกับเพื่อนๆ เพื่อแบ่งปันเครื่องดื่มอุ่นๆ หรืออาหารมื้ออร่อย คำที่ใช้แทนความรู้สึกในช่วงเวลาเหล่านั้นคือ ฮูกะ (hygge) ฮูกะช่วยชดเชยให้พวกเขาจากการมีความสุขกับแสงแดดได้น้อยกว่าประเทศใกล้เคียงที่อยู่ในละติจูดต่ำกว่า การล้อมวงรอบโต๊ะที่เรียบง่ายกับผู้คนอันเป็นที่รักทำให้หัวใจของพวกเขาได้รับการบำรุงเลี้ยง

ผู้เขียนฮีบรูหนุนใจให้เรารวมตัวกันเป็นชุมชน ท่านรู้ว่าจะมีวันอันยากลำบากที่ท้าทายมากยิ่งกว่าสภาพอากาศ ซึ่งเรียกร้องให้ผู้ที่ติดตามพระคริสต์บากบั่นในความเชื่อ แม้ว่าพระเยซูจะทำให้เราได้รับการยอมรับจากพระเจ้าอย่างแน่นอนผ่านความเชื่อในองค์พระผู้ช่วยให้รอด แต่เราอาจต้องต่อสู้กับความละอาย ความสงสัยหรือการต่อต้านจริงๆ การรวมตัวกันทำให้เรามีสิทธิพิเศษที่จะหนุนใจกันและกัน เมื่อเราสมาคมกัน เราสามารถ“ปลุกใจซึ่งกันและกันให้มีความรักและทำความดี” ซึ่งค้ำจุนความเชื่อของเรา (ฮบ.10:24)

การรวมตัวกับเพื่อนๆไม่ได้รับประกันอันดับของเราไว้ใน “รายงานความสุข” แต่คือสิ่งที่พระคัมภีร์แนะนำเพื่อเป็นวิธีที่จะช่วยให้เรายืนหยัดในความเชื่อภายใต้อุปสรรคที่พบเจอในชีวิต ช่างเป็นเหตุผลที่ดีเยี่ยมในการแสวงหาการมีชุมชนคริสตจักร! หรือที่จะเปิดบ้านของเราด้วยทัศนะเรียบง่ายแบบคนเดนมาร์ก เพื่อจะบำรุงเลี้ยงหัวใจของกันและกัน

ส่งต่อความจริง

เมื่อไม่สามารถพบหน้าหลานๆได้ด้วยตนเองเนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ปู่ย่าตายายจำนวนมากจึงหาวิธีการใหม่ๆที่จะติดต่อกับหลานๆในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 จากการสำรวจเมื่อเร็วๆนี้พบว่าปู่ย่าตายายหลายคนใช้การส่งข้อความและสื่อสังคมออนไลน์เพื่อรักษาสายสัมพันธ์อันมีค่ากับหลานๆ บางคนถึงกับนมัสการร่วมกันกับครอบครัวใหญ่ของพวกเขาผ่านวิดีโอคอล

หนึ่งในวิธีอันยอดเยี่ยมที่พ่อแม่และปู่ย่าตายายจะมีอิทธิพลต่อบุตรหลานของตนได้ก็คือ การส่งต่อความจริงในพระคัมภีร์ ในเฉลยธรรมบัญญัติบทที่ 4 โมเสสได้กำชับประชากรของพระเจ้า “ไม่ให้ลืมสิ่งซึ่งนัยน์ตาได้เห็นนั้น” หรือ ให้ “สิ่งเหล่านั้นประลาตเสียจากใจ [ของพวกเขา]” (ข้อ 9) ท่านยังกล่าวต่อไปว่า การแบ่งปันสิ่งเหล่านี้กับลูกหลานจะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้การ “ยำเกรง” พระองค์ (ข้อ 10) และดำเนินชีวิตตามความจริงของพระองค์ในแผ่นดินที่พระองค์ประทานแก่พวกเขา

ความสัมพันธ์ที่พระเจ้าประทานให้เรามีกับครอบครัวและเพื่อนฝูงนั้นก็เพื่อให้เรามีความสุข พระเจ้าทรงออกแบบครอบครัวมาเพื่อให้เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดพระปัญญาของพระองค์จากรุ่นสู่รุ่น โดยการ “อบรม [พวกเขา] ในทางธรรม” และเตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับ “การดีทุกอย่าง” (2 ทธ.3:16-17) เมื่อเราแบ่งปันความจริงและการงานของพระเจ้าในชีวิตของเรากับคนรุ่นต่อไป ไม่ว่าจะโดยการส่งข้อความ การโทร วีดิโอคอล หรือการสนทนากันแบบหน้าต่อหน้า เราก็ได้ฝึกพวกเขาให้เห็นและชื่นชมในพระหัตถกิจของพระเจ้าในชีวิตของพวกเขาเอง

ทีมในฝัน

เมลานีและเทรเวอร์ เป็นเพื่อนร่วมเดินเท้าตะลุยเส้นทางบนภูเขาหลายกิโลเมตร ซึ่งคนใดคนหนึ่งจะทำเช่นนั้นไม่ได้เลยถ้าขาดอีกคน เมลานีต้องนั่งรถเข็นเพราะมีความผิดปกติที่กระดูกสันหลังตั้งแต่เกิด เทรเวอร์ตาบอดเนื่องจากต้อหิน ทั้งคู่ตระหนักว่าพวกเขาเป็นส่วนที่เติมเต็มกันและกันอย่างสมบูรณ์ในการเพลิดเพลินกับผืนป่าโคโลราโด ขณะที่เดินไปตามเส้นทาง เทรเวอร์แบกเมลานีไว้บนหลังโดยเธอเป็นคนบอกทางให้เขา พวกเขาเรียกตัวเองว่า “ทีมในฝัน”

เปาโลบรรยายถึงผู้เชื่อในพระเยซูว่าเป็นพระกายของพระคริสต์ ซึ่งคล้ายกับลักษณะของ “ทีมในฝัน” ท่านเตือนชาวโรมให้ตระหนักว่าของประทานส่วนตัวของพวกเขาเป็นประโยชน์แก่กลุ่มคนที่ใหญ่กว่า เช่นเดียวกับที่ร่างกายคนเราแบ่งเป็นหลายส่วนและทำหน้าที่แตกต่างกัน เมื่อรวมกันเราก็ “เป็นกาย[ฝ่ายวิญญาณ]อันเดียว” และของประทานของเรามีไว้รับใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมแก่คริสตจักร (รม.12:5) ไม่ว่าจะเป็นการถวาย การหนุนใจ การสอน หรือของประทานฝ่ายวิญญาณอื่นใดอีกก็ตาม เปาโลกำชับให้เรามองตัวเองและของประทานของเราว่าเป็นของส่วนรวม (ข้อ 5-8)

เมลานีและเทรเวอร์ไม่ได้จดจ่อในสิ่งที่พวกเขาขาด และไม่ได้ภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนมีเมื่อเทียบกับอีกคน แต่พวกเขาใช้ “ของประทาน” ของตนเพื่อช่วยเหลืออีกฝ่ายด้วยความยินดี โดยตระหนักว่าพวกเขาทั้งคู่ทำได้ดีขึ้นมากเพียงใดเมื่อร่วมมือกัน ขอให้เราเต็มใจนำของประทานจากพระเจ้ามารับใช้ร่วมกับของประทานของเพื่อนผู้เชื่อ เพื่อถวายเกียรติแด่พระคริสต์

ความบริบูรณ์และความขัดสน

โรงอาหารของโรงเรียนก็เหมือนกับธุรกิจจัดเลี้ยงขนาดใหญ่ที่มักจะเตรียมอาหารไว้เกินการบริโภคจริง เพราะพวกเขาไม่สามารถกะปริมาณอาหารให้พอดีได้ อาหารที่เหลือก็ถูกทิ้งไป แต่ยังมีนักเรียนจำนวนมากที่ไม่มีอาหารพอกินที่บ้านและต้องหิวโหยในวันหยุดสุดสัปดาห์ เขตการศึกษาแห่งหนึ่งในสหรัฐร่วมมือกับองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรเพื่อหาทางออก พวกเขาบรรจุอาหารที่เหลือให้นักเรียนนำกลับบ้าน และสามารถแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้งและความหิวโหยไปพร้อมๆกัน

ในขณะที่คนส่วนมากจะไม่มองว่าการมีเงินจำนวนมากเป็นปัญหาเหมือนกับที่เรามองเรื่องอาหารเหลือทิ้ง แต่หลักการเบื้องหลังโครงการของโรงเรียนนั้นก็เหมือนกับที่เปาโลแนะนำไว้ในจดหมายถึงชาวเมืองโครินธ์ ท่านรู้ว่าคริสตจักรในมาซิโดเนียกำลังเผชิญกับความขาดแคลน ท่านจึงขอคริสตจักรในเมืองโครินธ์ให้ใช้การมี “บริบูรณ์” ของพวกเขา “ช่วยคนเหล่านั้นที่ขัดสน” (2 คร.8:14) ท่านมีความมุ่งหมายจะให้เกิดการให้กันไปมาระหว่างคริสตจักร เพื่อจะไม่มีบางคริสตจักรที่มีมากเกินไปในขณะที่บางคริสตจักรกลับขาดแคลน

เปาโลไม่ได้ต้องการให้ผู้เชื่อในเมืองโครินธ์ต้องลำบากจากการให้ของพวกเขา แต่อยากให้มีความเห็นอกเห็นใจและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อชาวมาซิโดเนีย โดยตระหนักว่าวันใดวันหนึ่งในอนาคต พวกเขาคงต้องการความช่วยเหลือเช่นนี้เหมือนกัน เมื่อเราเห็นผู้ที่ขัดสน ให้เราคิดดูว่าเรามีอะไรจะแบ่งปันได้บ้าง การให้ของเราไม่ว่าจะมากหรือน้อย จะไม่มีวันสูญเปล่า!

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา